09 มิถุนายน, 2552

งานผศ.สมคิด 3 ข้อ

1. ท่านสามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในองค์กรของท่านได้อย่างไร บอกกรอบความคิด ขั้นตอน ผลกระทบให้เห็นกระบวนการคิดของท่านทั้งระบบ
ตอบ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นหน่วยงานที่สามารถประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศ โดยการนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดการข้อมูลด้านต่าง ๆ ในเบื้องต้น เป็นการประมวลข้อมูลที่เป็นการดำเนินงานประจำวันภายในวิทยาลัยฯ และแบ่งงานตามผังการบริหารงานออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายบริหารทรัพยากร ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ และฝ่ายพัฒนาการศึกษา ในแต่ละฝ่ายมีการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในการปฏิบัติงาน โดยมีกรอบ แนวคิด ขั้นตอนและผลกระทบ ดังนี้
1. ฝ่ายวิชาการ นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดทำหลักสูตรการสอน การจัดทำตารางสอน การจัดทำแบบฟอร์มต่าง ๆ การวัดผลประเมินผลการเรียน การจัดทำสื่อการสอนชนิดต่างๆ การจัดทำเว็บไซด์ของครู นักศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของฝ่ายวิชาการเป็นไปอย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสามารถติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงานได้
2. ฝ่ายบริหารทรัพยากร สามารถนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในงานสารบรรณ งานธุรการ งานบัญชี งานการเงิน งานพัสดุ งานบัญชีเงินเดือน การจ่ายโบนัส งานจัดซื้อจัดจ้าง และงานบริหารงานบุคคล ทั้งครู พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ทำให้ผู้บริหารรับทราบจำนวนบุคลากร วันเข้ารับราชการ วันเกษียณอายุราชการ ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงาน ประวัติการเลื่อนขั้นเงินเดือน การลา การกระทำความผิด การถูกลงโทษทางวินัย ประวัติการพัฒนาตนเองในการร่วมประชุม อบรม สัมมนา เพื่อนำเสนอข้อมูลต่อผู้บริหารให้รับทราบในการตัดสินใจ ตลอดจนงานทะเบียนนักศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ
3. ฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ สามารถนำคอมพิวเตอร์มาประมวลผลด้านการจัดสรรงบประมาณ การสั่งซื้อวัสดุ ครุภัณฑ์ การจัดทำแผนงบประมาณประจำปี การจัดหาพัสดุ การควบคุมผลผลิตของแต่ละงานฟาร์ม การจัดทำศูนย์ข้อมูลสถานศึกษา การจัดทำประกันคุณภาพภายในและภายนอก ซึ่งในการทำการประมวลผลรายการต่าง ๆ ก็จะมีการจัดทำเอกสารรายงาน แต่อย่างไรก็ตามการประมวลผลข้อมูลเบื้องต้นบางรายการ อาจไม่ใช่สารสนเทศโดยตรง แต่อาจนำข้อมูลเหล่านี้นำเสนอผู้บริหาร โดยการจัดทำเป็นสารสนเทศ มีการประมวลผลให้ผู้บริหารทราบว่าในแต่ละเดือน แต่ละไตรมาส หรือแต่ละปี มีการใช้จ่ายเงินในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างไร มากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมาเท่าไร แนวโน้มการใช้จ่ายเงินในการซื้อวัสดุชนิดต่าง ๆ ของแต่ละงานเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะนำข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้เข้ามาเพื่อทำการประมวลผล และนำไปใช้งานในภายหลัง เช่น ในปีนี้มีรายรับการจำหน่ายผลผลิตของงานฟาร์มเป็นเท่าไร มากกว่า หรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละเท่าไร เป็นต้น
4. ฝ่ายพัฒนาการศึกษา สามารถนำคอมพิวเตอร์มาประมวลผลด้าน การจัดกิจกรรมนักศึกษา การเข้าร่วมพิธีการในวันสำคัญต่าง ๆ การจัดกิจกรรม องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์พระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี การเข้าค่ายปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ และงานปกครอง งานครูที่ปรึกษางานกีฬา งานนันทนาการ งานลูกเสือเนตรนารี งานนักศึกษาวิชาทหาร และงานตามนโยบายต่าง ๆ ตลอดจนโครงการที่ฝ่ายรับผิดชอบให้ดำเนินการ

2. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดทำแผนแม่บทด้านไอซีที (ICT) ฉบับที่ 2 ของรัฐบาลไทย จงสังเคราะห์ความรู้จากแผนแม่บทมาเป็นอรรถาธิบายให้แจ้งชัด
ตอบ เห็นด้วยกับแผนแม่บทด้าน ICT ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2556) ของรัฐบาลไทย เพราะจากการวิเคราะห์แผนแม่บทฉบับนี้จะพบว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมอุดมปัญญา ด้วยการใช้ ICT โดยการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ ทั้งบุคลากรด้าน ICT และบุคลากรในสาขาอาชีพอื่นๆการพัฒนาโครงข่ายสารสนเทศและการสื่อสารความเร็วสูงการพัฒนาระบบบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีธรรมาภิบาลโดยมีกลไก กฎระเบียบ โครงการการบริหารและการกำกับดูแล ที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ การยกระดับความพร้อมด้าน ICT ของประเทศให้สูงขึ้นในระดับโลกการผลักดันอุตสาหกรรม ICT ให้มีสัดส่วนมูลค่าเพิ่ม ต่อ GDP ไม่น้อยกว่า 20 % และการส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนอย่างน้อย 50 % สามารถเข้าถึงและใช้ ICT ได้ โดยโครงการที่สำคัญได้แก่ การจัดตั้งวิทยาลัย ICT การพัฒนากฎหมายด้าน ICT พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ โดยมีรายละเอียด พอจะสรุป ได้ดังนี้
1. การจัดตั้งวิทยาลัย ICT วัตถุประสงค์เพื่อให้การพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ในระดับภาพรวมของประเทศมีทิศทางที่แน่ชัด มีการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน และให้บุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีจำนวนมากขึ้น ให้เพียงพอในการเข้าสู่ธุรกิจด้าน IT ดังนั้น จึงเห็นสมควรจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ของประเทศขึ้น เพื่อเป็นการศึกษารูปแบบแนวทางการพัฒนาบุคลากรด้าน ICT ในระดับประเทศ
2. การพัฒนากฎหมายด้าน ICT กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ได้ศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมาย เพื่อ
ใช้ในการกำกับควบคุมการเผยแพร่สิ่งที่ไม่เหมาะสม เป็นภัยบนอินเทอร์เน็ตมีเนื้อหาที่ครอบคลุมเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของสังคม โดยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีงาม และเพื่อศึกษาวิเคราะห์เทียบเคียงกฎหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว มีแนวทางการกำหนดมาตรการทางกฎหมาย ในการป้องกันปัญหาการเผยแพร่สิ่งที่ไม่เหมาะสม อันเป็นภัยที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อผลักดันให้มีการยกร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
3. พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติในมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยได้แยกการกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมออกจากกัน คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ยังคงบัญญัติหลักการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ไว้ในมาตรา 47 แต่ได้บัญญัติให้เป็นองค์กรอิสระองค์กรหนึ่ง ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์และผลลัพธ์ในแผนแม่บทด้านICTฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2552 – 2554) ของรัฐบาลไทยก็มีสิ่งต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. พัฒนากำลังคน (ICT Professionals & ICT literate people)
2. บริหารจัดการ ICT อย่างมีธรรมาภิบาล
3. ใช้ ICT เพื่อช่วยสร้างธรรมาภิบาลของรัฐ
4. พัฒนาอุตสาหกรรมของ ICT
5. ใช้ ICT ในภาคการผลิตและบริการที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นนำเอาระบบนั้นไปพัฒนาได้ต่อไป (Open Source) รวมถึงการมีกลไกสนับสนุนให้บุคลากรนักพัฒนาของไทย สามารถเข้าร่วมโครงการระดับโลกได้ เพื่อสร้างให้เกิดการวิจัยพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี และทำให้เกิดความเข้มแข็งของบุคลากร ICT ไทย ทั้งนี้เพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ ลดภาระงบประมาณรายจ่ายในการซื้อซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ เพิ่มทางเลือกของการใช้ซอฟต์แวร์ พัฒนาฝีมือ ทักษะของโปรแกรมเมอร์และผู้ใช้งาน และให้มีอิสระในการกำหนดทิศทางการพัฒนาต่อยอดซอฟต์แวร์ใหม่

3. ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด จงอภิปรายถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องให้เห็นเป็นรูปธรรม
ตอบ เห็นด้วยกับการใช้กระบวนการทางกฎหมาย (กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมในสังคมจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครือข่าย อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เพราะเราจะพบว่า ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามามีบทบาทมาก และทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นตามลำดับต่อระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็มีแนวโน้มขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยขอสรุปประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้ในด้าน ๆ ดังนี้
1. ความผิดสำหรับแฮคเกอร์ พอจะสรุปได้ดังนี้
1.1 เข้าเว็บสาธารณะย่อมไม่มีความผิด แต่ผู้ที่เจาะระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่สร้างระบบป้องกันไว้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท แต่ถ้าเจาะเข้าไปถึงข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ด้วย โทษจะเพิ่มเป็น 2 เท่า
1.2 ผู้ที่เผยรหัส (password) ที่ตัวเองรู้มา สำหรับเพื่อใช้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท
1.3 ผู้ที่ดักจับข้อมูลที่เป็นส่วนตัว ซึ่งส่งถึงกันทางอินเตอร์เน็ต ทาง e-mail มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
2. ความผิดสำหรับผู้ปล่อยไวรัส พอจะสรุปได้ดังนี้
2.1 ผู้ที่ทำลายข้อมูลหรือไปเปลี่ยนข้อมูลของผู้อื่นไม่ว่าด้วยวิธีการใด จะใช้ไวรัส หรือแอบเข้าไปทำลาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท
2.2 การทำลายข้อมูลผู้อื่น ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ประเภทคอมพิวเตอร์ควบคุมจราจร มีโทษสูงขึ้นเป็น จำคุก 10 ปี ปรับ 200,000 บาท ถ้ากระทบถึงความมั่นคงประเทศ จะมีโทษสูงขึ้นเป็นจำคุก 3 – 15 ปี ถ้ากระทำจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจะหนักถึงจำคุก 10 – 20 ปี
3. ความผิดของผู้ที่ก่อกวนหรือแกล้งผู้อื่น พอจะสรุปได้ดังนี้
3.1 ผู้ที่ส่งเมล์ก่อกวนหรือโฆษณาขายสินค้าหรือขายบริการ ประเภทไปโผล่ pop up หรือผู้ที่ส่งเมล์ขยะโดยที่ผู้รับไม่ต้องการ มีโทษปรับอย่างเดียว ไม่เกิน 100,000 บาท โทษฐานก่อความรำคาญ
3.2 ผู้ที่ส่งเมล์เป็นข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น เป็นข่าวลือ ปล่อยข่าวให้เกิดความวุ่นวาย รวมถึงส่งภาพลามกอนาจารทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่ได้รับแล้วส่งต่อด้วย มีโทษเท่ากันคือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
3.3 ผู้ที่ตัดต่อภาพของผู้อื่น แล้วนำเข้าเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต ทำให้เจ้าของภาพเสียหาย อับอาย ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000 บาท
4. ความผิดของผู้ให้บริการ พอจะสรุปได้ดังนี้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องเก็บรวมรวมข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างน้อย 90 วัน เพื่อให้สามารถหาตัวใช้บริการ สำหรับให้ตรวจสอบได้ มิฉะนั้นผู้ให้บริการจะต้องรับโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท การกระทำความผิดตามกฎหมายนี้ แม้จะกระทำในหรือนอกราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ถ้าเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศหรือต่างประเทศก็ต้องยอมรับโทษตามกฎหมายนี้ด้วย แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ การกระทำความผิดในระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเตอร์เน็ตนี้จะมีวิธีการจับได้อย่างไร ในทางปฏิบัติกฎหมายให้อำนาจเรียกข้อมูลจากผู้ให้บริการหรือเจ้าของเว็บทั้งหลาย รวมทั้งมีอำนาจที่จะเข้าไปติดตาม ตรวจสอบ คัดลอก ในระบบคอมพิวเตอร์ของใครก็ได้ ถ้ามีเหตุอันควรเชื่อถือได้ว่ามีการกระทำความผิด แต่การใช้อำนาจเจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นตามกฎหมายฉบับนี้นั้น จะต้องขออนุญาตต่อศาลก่อน จะกระทำโดยพละการไม่ได้ หากเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่ใช้อำนาจหน้าที่ไปเจาะข้อมูลมาโดยไม่มีอำนาจ เจ้าหน้าที่มีความผิดด้วย โดยต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท และถึงแม้ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดเผย แต่กระทำไปด้วยความประมาททำให้ข้อมูลหลุดเข้าสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ก็จะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายที่ดีมีประโยชน์ เพราะทำให้ประเทศไทยได้ชื่อเสียงว่ามีกฎหมายด้านการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เช่นเดียวกับอารยประเทศทั้งหลาย เป็นการช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ลดน้อยลง และช่วยให้สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น เช่นเดียวกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเป็นระยะๆ อาทิเช่น ควรมีข้อยกเว้นสำหรับสถานศึกษา ควรมีข้อยกเว้นให้ส่งเบาะแสการกระทำความผิดให้เจ้าหน้าที่ผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้ ควรออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้ครบถ้วนยิ่งขึ้น และควรปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

31 พฤษภาคม, 2552

การคัดเลือกไก่ชน

การหาพ่อแม่พันธุ์ไก่
โดยปกตินักเลงเล่นไก่ชนมักจะหวงพันธุ์ของแม่ไก่มากกว่าของพ่อไก่ เพราะถือกันว่าสายเลือดของแม่จะให้ได้ลูกไก่พันธุ์ที่ดี วิธีที่จะหาพ่อพันธุ์ให้ได้ไก่เก่ง ท่านต้องเป็นซอกแซกไปเที่ยวตามบ่อนไก่ชนบ่อย ๆ และคอยดูว่าไก่ตัวไหนที่เก่ง คือตีแม่น ชั้นเชิงดี หัวใจทรหด อดทน ไม่หนีง่าย ถ้าไก่ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เวลาชนเสร็จแล้วชนะ หรือแพ้ จะตาบอดหรือไม่ก็ตาม เอามาทำพ่อพันธุ์ได้ (ตามตำราบอกว่าเอาไก่ที่แพ้มาทำพ่อไก่มันให้ลูกเด็ดนักแล) ท่านซื้อตอนนั้นราคาอาจจะไม่สูงนัก เพราะนักเลงไก่เขาไม่ค่อยเก็บเอาไว้ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้ดังกล่าว ท่านต้องไปหาซื้อเอาตามบ้านนักเล่นไก่ชน ส่วนแม่พันธุ์ก็ควรให้มีคุณสมบัติเหมือนตัวผู้ เพราะการผสมพันธุ์ ถ้าทำโดยวิธีการสุกเอาเผากินแล้วจะทำให้ท่านได้ไก่ดียาก เพราะกว่าจะรู้ว่าตัวไหนดีหรือไม่ดีต้องเสียเวลาอย่างน้อยประมาณ 9 - 10 เดือน



วิธีคัดเลือกแม่พันธุ์ และแม่พันธุ์ไก่
โดยปกตินักนิยมเล่นไก่ชนมักจะเลือกสีเป็นอันดับแรก ดังนั้นไก่ที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์ควรเลือกจากไก่ที่มีสีดังต่อไปนี้ 1. สีเหลืองหางขาว 2. สีประดู่หางดำ เดือยดำ เล็บดำ ปากดำ (หรือปากคาบแก้ว) 3. สีเขียวเลา (มีสีเขียวสลับกับสีขาวทั้งตัว หางขาวด้วย) 4. สีเขียวกา หรือเขียวแมลงภู่ (หางดำ)เพราะโบราณกล่าวไว้ว่าไก่ 4 สีนี้เป็นสีที่รักเดิมพันมาก ชนได้ราคาแพง ไม่ค่อยแพ้ ส่วนไก่ สีอื่น ๆ นักเลงเล่นไม่นิยมเล่นกัน เพราะเข้าใจว่าเป็นไก่พันธุ์ผสมมาจากสายเลือดอื่น ที่ไม่ใช่ไก่ชนแท้ อาจจะผสมกับไก่โรดส์ หรือไก่เร็คฮอนก็เป็นได้ น้ำใจไก่พวกนี้จึงไม่ทรหดมาก สำหรับแม่พันธุ์นั้นเวลาใช้ผสมพันธุ์ ควรหาให้เป็นสีเดียวกับพ่อพันธุ์ เวลาให้ลูกจะได้สีเหมือนกัน คุณสมบัติ และลักษณะของพ่อพันธุ์ไก่
นอกจากสีของไก่แล้ว พ่อไก่ควรมีคุณสมบัติ และลักษณะดังต่อไปนี้1. ควรเป็นไก่ที่มีประวัติที่ดี เคยชนชนะจากบ่อนมาแล้ว 2. ปากต้องใหญ่ มีร่องน้ำ 2 ข้างปากลึก (ปากสีเดียวกับขา) 3. นัยตาควรเป็นสีขาว (หรือที่เรียกว่าตาปลาหมอตาย หรือตาสีขน สีเดียวกับสร้อยคอ) 4. คอใหญ่ และปล้องคอถี่ ๆ 5. หัวปีกต้องใหญ่ และขนปีกยาว 6. นิ้วเล็กเรียวยาว 7. เม็ดข้าวสารท้องแข้งใหญ่ และแข้งกลม 8. สร้อยคอยาวติดต่อกันถึงสร้อยหลัง 9. หางยาวแข็งและเส้นเล็ก 10. กระดูกหน้าอกใหญ่และยาว 11. เดือยใหญ่ และชิดนิ้วก้อยมากที่สุด 12. อุ้งเท้าบางและเล็บยาว 13. เกล็ดแข้งใสเหมือนเล็บมือ และมีร่องลึก
ชั้นเชิงของไก่ชน
ปกติไก่ชนจะมีชั้นเชิงการต่อสู้อยู่ 2 อย่าง คือไก่ตั้ง และไก่ลง ส่วนไก่กอดนั้นเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ไก่ตั้ง แม่พันธุ์ไก่ลง หรือพ่อพันธุ์ไก่ลง กับแม่พันธุ์ไก่ตั้ง ลูกออกมาจึงกลายมาเป็นไก่กอด ส่วนนักเลงเล่นส่วนมากชอบไก่ตั้ง เพราะการต่อสู้ของไก่ตั้งนั้นเหนื่อยช้าไม่ต้องวิ่งมาก เพราะยืนคอยดักตีอย่างเดียว แต่บางคนชอบไก่เชิง เพราะไก่เชิงไม่ค่อยเจ็บตัวเวลาเข้าชนจะลักตีขโมยตี ดังนั้นถ้าท่านจะผสมก็ควรเลือกชั้นเชิงไก่ให้เหมือนกัน กล่าวคือ ถ้าท่านชอบไก่เชิง ก็ควรหาตัวเมียที่มีชั้นเชิงเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านชอบไก่ตั้ง ก็ควรเลือกตัวเมีย ให้ตั้งเหมือนตัวผู้ ถ้าท่านไม่เลือกชั้นเชิงให้เหมือนกันแล้ว ลูกออกมาจะชนเลอะเทอะเป็นไก่โง่ ควรระวังให้มาก เพราะปกติไม่ค่อยคัดเลือกไก่กัน ผสมกันเรื่อยไปจึงไม่ค่อยได้ไก่เก่ง ได้น้อยตัว

27 พฤษภาคม, 2552

หน้าที่ชาวไทย





หมายถึง ภาระและความรับผิดชอบของประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งต้องยึดถือปฏิบัติ ในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสองสถานะ คือ๑. ฐานะผู้ปกครอง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้อำนายอธิปไตยซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของปวงชนชาวไทยและประชาชนสามารถใช้อำนาจดังกล่าวผ่านการเลือกผู้แทนของตน อันได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาแทนตน๒. ฐานะผู้อยู่ภายใต้การปกครอง รัฐธรรมนูญนอกจากจะมีบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพไว้อย่างชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดให้ประชาชนมีหน้าที่บางประการควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ เมื่อรัฐได้ให้หลักประกันในสิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนแล้ว ประชาชนก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อรัฐด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราช
อาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้กำหนดหน้าที่ของประชาชนไว้ในหมวดที่ ๔ ว่าด้วย “หน้าที่ของชนชาวไทย” สรุปได้ดังนี้
๑. หน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
๒. หน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
๓. หน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
๔. หน้าที่ป้องกันประเทศ
๕. หน้าที่รับราชการทหาร
๖. หน้าที่เสียภาษีอากร
๗. หน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ
๘. หน้าที่รับการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายบัญญัติ
๙. หน้าที่พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น
๑๐. หน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่กฎหมายบัญญัติ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม
อำนวยความสะดวกและให้บริการแก่ประชาชน

ท่องเทียว

เยือนเมียนม่าร์ (รัฐฉาน)




ย่ำดอยตุง เจียงฮาย



สุขสบายกับดอกไม้ในสวนที่
ตำหนักดอยตุง จ.เชียงราย